Premature Birth and Giftedness
ความรู้สึกแรกที่ผู้ปกครองรู้ว่าลูกของตนคลอดก่อนกำหนด คือความวิตกกังวล หรืออาจถึงขั้นซึมเศร้า เพราะรู้ว่าเด็กต้องอยู่โรงพยาบาลต่ออีกนาน และคำถามหนึ่งที่ตามมาก็คือลูกของตนมีพัฒนาการด้านต่างๆ เป็นไปตามปกติหรือไม่ เพราะพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดครบกำหนด อย่างไรก็ตามหากมีการกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น โดยการเทียบพัฒนาการเด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้นต้องปรับเวลาวันคลอดจริง และวันครบกำหนดคลอด เช่น เด็กที่เกิดในวันที่ 3 เดือนมกราคม แต่กำหนดคลอดจริงวันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ ถ้านับอายุเด็กวันที่ 3 มีนาคม เท่ากับว่าเด็กมีอายุพัฒนาการ 1 เดือน
การประเมินพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และเป็นเด็กปัญญาเลิศ (Gifted) นั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะสัญญาณของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Giftedness) สามารถสังเกตเห็นได้หลังจากคลอด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดนั้น มักจะมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งจะประเมินได้ยากมาก
พัฒนาการที่ไม่สอดคล้องกันของเด็กที่มีแววเป็นเด็กปัญญาเลิศ
(Asynchronous Development of Gifted Children)
พัฒนาการของเด็กปัญญาเลิศนั้นอาจจะมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไป รูปแบบของการพัฒนาการจะเป็นไปไม่พร้อมกัน หรือไม่สอดคล้องกัน ซึ่งพัฒนาการทางสติปัญญาส่วนใหญ่มักจะสูงกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่การพัฒนาทางด้านร่างกาย (Physical Development) อาจต่ำกว่าเกณฑ์ และในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้นก็มักพบว่ามีความแตกต่างระหว่างพัฒนาการทางสติปัญหา (Cognitive) สังคมและอารมณ์ (Social and Emotional) และพัฒนาการทางด้านร่างกายเช่นกัน
พัฒนาการเด็กปัญญาเลิศ และลักษณะเฉพาะ
(Gifted Milestones and Traits)
พ่อแม่ของเด็กปัญญาเลิศ (Gifted) มักจะมีคำถามว่าบุตรของตนเข้าข่ายเด็กปัญญาเลิศหรือไม่นั้น สามารถดูลักษณะพิเศษได้จาก (Gifted characteristics ใน www.giftedkids.about.com) หรือในบทความเรื่อง “ปัญหาในการบูรณาการประสาทความรู้สึกในเด็กอัจฉริยะ ปัญญาเลิศ” ซึ่งถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่าอาจไม่อยู่ในกลุ่มเด็กปัญญาเลิศ ตัวอย่างเช่น พัฒนาการทางภาษาของเด็กทั่วไปที่อายุ 6 เดือน คือ เล่นเสียง (Babbling) แต่ในเด็ก Gifted บางคนพูดคำแรก (First word) ได้แล้ว อย่างไรก็ตามก็มีเด็ก Gifted บางคนที่พัฒนาการพูดช้า หรือช้ามาก บางคนพูดได้ตอนสองขวบ และอาจมีการข้ามพัฒนาการเล่นเสียงไปพูดเป็นคำเลย
การตอบสนองที่มากเกินไปทางระบบประสาทสัมผัสต่างๆ
(Extreme Sensitivities)
อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองของเด็กปัญญาเลิศ (Gifted) ที่มักพบคือ เด็กมีความไวต่อสิ่งเร้าทางระบบประสาท ซึ่งมักเรียกว่า (Sensual Overexcitability) ที่คล้ายกับปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration Disorder) ซึ่งในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน
ข้อสำคัญที่ควรตระหนักสำหรับผู้ปกครองของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
(Significance for Parents of Preemie)
พ่อแม่ที่ลูกคลอดก่อนกำหนด และแสดงสัญญาณของเด็กปัญญาเลิศ (Giftedness) เช่น มีความตื่นตัวสูง (Alertness) หรือมีกระบวนการคิดที่สูง (High Cognitive Functioning) จนผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่เกิดความสับสนว่าลูกของตนมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือพัฒนาการเข้าข่ายเด็ก Gifted จึงควรปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก และนักกิจกรรมบำบัดที่ใช้ทฤษฎีการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Processing/Integration)
เรียบเรียงโดย Mind Brain & Body กรกฎาคม 2558 จากบทความของ Carol Bainbridge, Gifted Children Expert สืบค้นได้จาก http://giftedkids.about.com/od/younggiftedchildren/qt/preemie.htm