http://www.mindbrainchildactivity.com
  
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

หน้าแรก

 โปรแกรม Mind Brain

การทดสอบของศูนย์

 บทความน่าสนใจ

 ให้คำปรึกษาปัญหาเด็ก

 ภาพสถานที่

 ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็กเชียงใหม่

งานวิจัยที่น่าสนใจ

สมาธิสั้น (ADHD) vs (SPD)

พัฒนาการเด็ก Developmental

การบูรณาการประสาทความรู้สึกสมองของเด็ก SI

หนังสือแนะนำ

22 เหตุผลที่ทำไมเด็กถึงนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ไม่ได้

บุตรของท่านมีปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาเกิดจากความบกพร่องของการบูรณาการประสาทความรู้สึก

เคล็ดลับสำหรับเด็กที่มีปัญหาการบูรณาการระบบประสาทความรู้สึก (Sensory Processing Disorder) ไม่ให้วุ่นวายในฤดูการท่องเที่ยว

เมื่อปัญหาในการบูรณาการประสาทความรู้สึกสมองส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก

เด็กติดแม่ งอแง ร้องไห้ ไม่ยอมไปโรงเรียน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาความเครียด หรือปัญหาภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety)

ปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกในเด็กอัจฉริยะ ปัญญาเลิศ (Gifted Child)

เด็กคลอดก่อนกำหนด และเด็กอัจฉริยะ ปัญญาเลิศ (Gifted Children)

The Vestibular Sense/ระบบรักษาสมดุลการทรงตัว

ปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐานในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

The Tactile Sense; ระบบการรับสัมผัส

The Proprioceptive Sense ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ

ปัญหาพฤติกรรม (Behavior problems) ที่พบร่วมกับการบูรณาการประสาทความรู้สึกที่บกพร่อง (SID)

ปัญหาในการบูรณาการณ์ประสาทความรู้สึกพื้นฐานของเด็กที่ควรรู้

ภาวะหลีกหนีการสัมผัส TD

Sensory Integration & Sensory Integration dysfunction

ทักษะการเขียน : Handwritting

Special Education

สินค้า

 Siren Whistle

สถิติ

เปิดเว็บ03/08/2010
อัพเดท10/11/2023
ผู้เข้าชม957,433
เปิดเพจ1,167,501

ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพัฒนาการรับความรู้สึกและสั่งการเคลื่อนไหวในเด็ก :

ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพัฒนาการรับความรู้สึกและสั่งการเคลื่อนไหวในเด็ก :

ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพัฒนาการรับความรู้สึกและสั่งการเคลื่อนไหวในเด็ก : The Impact of Technology on Child Sensory and Motor Development

          เมื่อนึกย้อนไปในอดีตถึงพัฒนาการของเด็กเมื่อ 20 ปีที่แล้วเทียบกับเด็กปัจจุบัน จะพบว่าในอดีตเด็กได้มีโอกาสเล่นนอกบ้าน ขี่จักรยาน เล่นกีฬา มีโอกาสสร้างสรรค์จินตนาการต่างๆ จากการเล่นโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ราคาแพง หรือจากการชี้นำจากผู้ปกครอง เด็กในอดีตได้มีโอกาสเคลื่อนไหวที่เยอะมาก สิ่งแวดล้อมทางประสาทความรู้สึกต่างๆ (sensory world) ค่อนข้างเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ครอบครัวใช้เวลาร่วมกันทำงานบ้านต่างๆ ร่วมกับเด็ก โต๊ะทานข้าวคือศูนย์รวมของครอบครัวที่สมาชิกทุกคนร่วมรับทานอาหารและเล่าเรื่องราวต่างๆ ร่วมกัน   

          แต่ปัจจุบันหลายครอบครัวกำลังเปลี่ยนไป ผลกระทบของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ทำให้ เกิดการแตกแยก และลดคุณค่าของสิ่งที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวไว้ด้วยกัน ไม่วาจะเป็นการทำงานร่วมกัน ชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน และชุมชนนั้นเปลี่ยนไป พ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันอาศัยการสื่อสารข้อมูลและการขนส่งเทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, อินเทอร์เน็ต, เกมส์ แท็บเล็ต หรือ iPad มีความฉลาดและรวดเร็วเราไม่รู้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิต และโครงสร้างครอบครัวของเรากำลังเปลี่ยนไป

         การสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กประถมศึกษามีการใช้งานของเทคโนโลยีเพื่อความบันเทิง เฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยร้อยละ 65 ของเด็กเหล่านี้มีโทรทัศน์ในห้องนอนของตนเอง และร้อยละ 50 ในอเมริกาเหนือเปิดโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้อีเมล์ โทรศัพท์ การท่องอินเตอร์เน็ต และการสนทนาในไลน์ เราเริ่มจะเห็นชัดแล้วว่า เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของบ้านและชีวิตความเป็นอยู่ เวลาออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน บทสนทนาบนโต๊ะอาหารจะถูกแทนที่ด้วย “หน้าจอโทรศัพท์” เด็กๆ ในปัจจุบันพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ในการเล่นของพวกเขา ทำให้ความท้าทายในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ถูกจำกัด ตลอดจนถึงร่างกายที่ขาดการกระตุ้นพัฒนาอย่างเหมาะสมในด้านระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว (sensory and motor development)  ร่างกายที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ และถูกกระตุ้นด้วยภาพและเสียงจะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า และขาดทักษะความพร้อมพื้นฐานด้านต่างๆ และในประเทศฝรั่งเศสยังพบว่าสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อความก้าวร้าวของเด็ก ที่สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการจัดลำดับจำแนกความรุนแรงของสื่อ ปัจจุบันเด็กที่เข้าสู่วัยเรียนหลายคนมีความยากลำบากในการควบคุมตนเอง ( self-regulation ) ขาดทักษะที่ต้องใช้สมาธิ (attention skills) ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นต่อการเรียนรู้ทุกอย่าง และในที่สุดเด็กก็จะแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อการจัดการของครูในห้องเรียน

            มนุษย์มีวิวัฒนาการระบบประสาทการรับความรู้สึกสั่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกายขึ้นมา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กนั่งจดจ่อกับเทคโนโลยีที่วุ่นว่ายอย่างเช่นทุกวันนี้ จากข้อมูลการศึกษาทางด้านสุขภาพและด้านการศึกษา พบว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมต่างๆ โดยพบว่าเด็ก 1 ใน 6 คน จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีพัฒนาการล่าช้า (developmental disability) และมีภาวะโรคอ้วน เด็กร้อยละ 14.3 ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางจิตเวช และการวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคออทิสติก (autism) โรคความบกพร่องในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย (coordination disorder) ความบกพร่องในการบูรณาการประสาทความรู้สึก (sensory processing disorder) โรควิตกกังวล (anxiety) โรคซึมเศร้า (depression) และโรคนอนไม่หลับ (sleep disorders) ก็อาจมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไป ซึ่งควรเป็นเรื่องที่ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางด้านสุขภาพต่างๆ ควรให้ความสนใจต่อปัจจัยด้านการใช้เทคโนโลยีของที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก

            ปัจจัยที่สำคัญต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจที่ดีของเด็ก คือ การเคลื่อนไหว การสัมผัส และการสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นข้อมูลความรู้สึกที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบสั่งการเคลื่อนไหวและการเชื่อมสายสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว หากขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมจะทำให้เด็กเกิดปัญหาทางด้านพัฒนาการได้ โดยปกติเด็กเล็กควรได้เล่นเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 3 ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ระบบประสาทรักษาสมดุลการทรงตัว (Vestibular system) ระบบรับความรู้สึกจากเอ็นข้อต่อและกล้ามเนื้อ (Proprioceptive system) และระบบรับความรู้สึกสัมผัส (Tactile system) ได้รับการกระตุ้นที่เพียงพอต่อพัฒนาการด้านต่างๆ โดยในช่วงวัยแรกเกิดถึง 7 เดือนนั้นมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาความผูกพันของแม่และลูก (infant-parent bond) ผ่านการดูแลอย่างใกล้ชิดและการสื่อสารสบตา ซึ่งการกระตุ้นระบบความรู้สึกนี้จะทำให้เกิดพัฒนาการด้านการควบคุมการทรงท่า (posture) การประสานสัมพันธ์ระหว่างร่างกายทั้งสองซีก (bilateral coordination) การควบคุมระดับความตื่นตัวที่เหมาะสม (optimal arousal states) และการควบคุมตนเอง (self-regulation) ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางด้านต่างๆ และการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

          ทารกที่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำ (low tone) เด็กวัยหัดเดินที่พัฒนาการเคลื่อนไหวล่าช้า เด็กที่ไม่มีสมาธิ มีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาความพร้อมพื้นฐานจากนักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัด (occupational therapy) การใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยต่างๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นล้อเข็นเด็ก เบาะที่นั่งสำหรับหิ้ว หรือเครื่องหิ้วสะพายต่างๆ สำหรับเด็ก เพราะกลัวว่าหากเด็กเล่นเคลื่อนไหวจะไม่ปลอดภัย และให้เด็กดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมต่างๆ แทน เป็นจำกัดโอกาสในการเคลื่อนไหว การสัมผัส และการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็ก ทำให้เด็กขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม โดย Dr. Montagu กล่าวว่าการที่เด็กวัยทารกจนถึงวัยหัดเดินที่ขาดการกระตุ้นการสัมผัสจะทำให้เด็กวุ่นวาย (excessive agitation) หรือมีภาวะวิตกกังวล (anxiety) และอาจพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยประถมได้

          หากเด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ การสื่อสารทางสังคมดูเหมือนจะลดลงมากขึ้นเท่านั้น ในช่วงวัยเด็กเป็นการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง (identity) หากเด็กอยู่กับโทรทัศน์หรือเกมส์มากจนเกินไปจะทำให้เด็กแยกแยะไม่ออกว่าตนเองกำลังเป็นเครื่องจักรสังหาร (killing machine) หรือแค่กำลังเป็นเด็กโดดเดี่ยวที่ไม่มีเพื่อน โรคติดเกมส์ หรือติดโทรทัศน์กำลังระบาดไปทั่วโลก และกำลังเข้าสู่บ้านและโรงเรียน ส่งผลให้ผู้คนเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพและด้านจิตใจ หากมองย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อนเราต้องเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการเอาชีวิตรอด หากเทียบกับปัจจุบันเราต้องพึงพาอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเอาชีวิตรอดเช่นกัน ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น การติดต่อสื่อสารเป็นพัฒนาการที่ทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย การสร้างความผูกพันที่ดีจะทำให้เด็กมีความสุขและสงบ แต่ในครอบครัวที่ใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไป จะทำให้เด็กขาดความผูกพัน วิตกกังวล วุ่นวาย และส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจของเด็ก

           การวิเคราะห์ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพัฒนาการของเด็กพบว่า ในขณะที่ระบบประสาทรักษาสมดุลการทรงท่า (vestibular) ระบบรับความรู้สึกจากเอ็นข้อต่อกล้ามเนื้อ (Proprioceptive) และระบบรับสัมผัสผิวกาย (tactile) ขาดการกระตุ้นจะทำให้ระบบการมองเห็น(visual) และการได้ยิน (auditory) อยู่ในภาวะที่วุ่นวาย (overload) ความไม่สมดุลของระบบประมวลผลความรู้สึกต่างๆ จะทำให้กระทบต่อการพัฒนาระบบประสาท (neurological development) เช่นด้านกายวิภาคของสมอง (brain’s anatomy) สารสื่อประสาทต่างๆ ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างวุ่นวาย เด็กที่รับรู้ความรุนแรงผ่านโทรทัศน์ หรือเกมส์สมองจะอยู่ในภาวะเครียด การหลั่งของสารอดีนาลีนอยู่ในระดับสูง กระสับกระส่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว สมองแยกไม่ออกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง หรือว่าตนเองกำลังเล่นเกมส์อยู่ เมื่อเด็กอยู่ในภาวะนี้บ่อยๆ ระบบประสาทก็จะอยู่ในภาวะตื่นตัวมากเกินไปอยู่ตลอดเวลา

            แม้ว่าเรายังไม่ทราบผลกระทบระยะยาวของความเครียดสะสมต่อพัฒนาการของเด็ก แต่เรารู้ว่าความเครียดสะสม (chronic stress) ในผู้ใหญ่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ การใช้สายตาจ้องมองภาพสองมิติบนหน้าจอในระยะห่างที่คงที่เป็นเวลานานนั้นเป็นการจำกัดพัฒนาการเคลื่อนไหวตา (ocular development) ที่จำเป็นต่อการอ่านและการเขียนในอนาคต รวมถึงการมองวัตถุ รูปทรง การแยกแยะระยะห่างต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเคลื่อนไหวเล่นเครื่องเล่นสนามต่างๆ ด้วย อีกทั้งการกระตุ้นระบบการมองเห็น และการได้ยิน (visual and auditory stimulation) ที่รวดเร็ว และเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง (rapid intensity, frequency and duration) ยังส่งผลต่อความสามารถในการคงสมาธิจดจ่อกับงาน และการใช้จินตนาการของเด็กอีกด้วย โดย Dr. Dimitri Christakis พบว่าทุกๆ ชั่วโมงที่เด็กแรกเกินจนถึง 7 ปีดูโทรทัศน์ในแต่ละวัน จะทำให้เด็กมีปัญหาสมาธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (ดูอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมได้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษนะครับ)

            ในปี 2001 สมาคม American Academy of Pediatrics ออกแถลงการณ์แนะนำว่าเด็กอายุไม่ถึงสองขวบไม่ควรใช้เทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเด็กวัย Toddler อายุมากกว่า 2 ปี ดูโทรทัศน์เฉลี่ย 2.2 ชั่วโมงต่อวัน ทางสมาคมจึงแนะนำว่าควรจำกัดไม่เกิน 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทั้งนี้กลับพบว่าเด็กวัยอนุบาลผู้ปกครองกลับอนุญาตให้ดูโทรทัศน์ได้ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ส่งผลดีต่อเด็ก และทำให้เด็กขาดโอการในการเล่น การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาสมาธิ และการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งหลายโรงเรียนยังเพิ่มงบประมาณจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอนุญาตให้เด็กเล่นเวลาพักได้ ซึ่งดูเหมือนว่าทุกวันนี้ครอบครัวและโรงเรียนต้องการให้เด็กอยู่ในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality Dream) มากว่าโลกแห่งความจริงที่ผู้คนมีการพบปะติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

            เป็นสิ่งสำคัญมากที่พ่อแม่ ครู และ นักบำบัด ควรร่วมมือกันส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  ผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อเด็กไม่ได้มีเพียงแต่ปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกาย  จิตใจ หรือพฤติกรรม แต่ยังรวมถึงปัญหาความสามารถในการเรียนรู้ และการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่น และในครอบครัว ขณะที่เทคโนโลยียังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งทำให้เราควรหันมารักษาสมดุลในการใช้เทคโนโลยี แบ่งเวลาให้ครอบครัว และการออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ มีความสำคัญต่อชีวิต แต่การเชื่อมต่อเด็กเข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้เด็กยกเลิกการเชื่อมต่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ เกมส์ หรือสื่ออิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ผู้ปกครองควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก โอบกอด พูดคุย และเล่นกับลูกให้มากขึ้น

 

            แปลและเรียบเรียงบทความจาก Cris Rowan, OTR โดย ครูต้น และครูแพร นักกิจกรรมบำบัดประจำศูนย์ Mind Brain & Body มกราคม 2558 ค้นหาข้อมูลอ้างอิงจาก www.sensomotorische-integratie.nl/CrisRowan.pdf

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view